Thai  Thai

ประวัติ ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

ประวัติ ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
ปาย เป็นเมืองเก่าแก่ มีหลักฐานว่า เจ้าเมืองคนแรกคือ ขุนส่างปายและในสมัย พระเจ้าโหตรประเทศ พระราชาธิบดี เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ส่ง เจ้าแก้วเมือง ออกสำรวจชายแดน ได้พบว่าภูมิประเทศน่าสนใจ จึงแนะนำให้ขุนส่างปายย้ายเมืองมาตั้งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปายเพราะที่ราบกว้างขวาง ผู้คนจึงเรียกเมืองใหม่ ว่า เวียงใต้ ส่วนเมืองเก่าเรียกว่า เวียงเหนือ พ.ศ. 2454 เมืองปายได้ยกฐานะเป็นอำเภอ โดยมีนายอำเภอคนแรกชื่อ รองอำมาตย์เอกหลวงเจริญเขตเขลางค์นคร (สอน สุขุมินทร์)

เมืองปาย : ชุมทางชาติพันธุ์ตั้งแต่อดีต (ประวัติศาสตร์เมืองปาย)
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
เมืองปาย เป็นเมืองที่มีคนตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยประวัติศาสตร์บริเวณที่ตั้งเมืองปายเป็นเมืองสำคัญของล้านนาในสมัยราชวงศ์มังรายซึ่งมีเมืองเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลาง ต่อมาเมืองปายได้ร้างไป พร้อมกับเมืองเชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ. 2318 – 2338 เมืองปายได้ฟื้นฟูเป็นหมู่บ้าน และพัฒนาเป็นอำเภอปาย โดยมีผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ ได้แก่คนไทยวน(คนเมือง) คนไทใหญ่ ปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) และชาวไทภูเขาเผ่าต่าง ๆ ทั้งนี้เนื่องจาก เมืองปายตั้งอยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสายเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัจจุบันเมืองปายเป็นเมืองชุมทางที่สำคัญเมืองหนึ่งบนเส้นทางระหว่างเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน


เมืองปาย สมัยก่อนประวัติศาสตร์
อำเภอปาย มีร่องรอยการอาศัยอยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีชุมชนโบราณที่ปรากฏชื่อในตำนาน คัมภีร์ใบลานหลายเมือง และมีประวัติสืบต่อกันมานับร้อยปี ประกอบกับมีหลักฐานโบราณคดีปรากฏอยู่ในชุมชนโบราณดังกล่าวด้วย จากการศึกษาของพระครูปลัดกวีวัตน์ธนจรรย์ สุระมณี วัดเจดีย์หลวงอำเภอเมือง เชียงใหม่มีรายงานการสำรวจว่า ในเขตเมืองน้อย อำเภอปาย มีหลักฐานโบราณคดี สมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังนี้
- ถ้ำผีแมน บ้านห้วยหก (ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย ) อยู่ห่างจากบ้านห้วยหกไปทางทิศตะวันตก ราว 1,500 เมตร พบซากกระดูก และระแทะคล้ายรางไม้ให้อาหารสัตว์ หลงเหลืออยู่บางส่วน ถูกชาวบ้านเผาไปเกือบหมดแล้ว ถ้ำผีแมนที่อยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์นี้ ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอยู่หลายแห่งเช่น
* ถ้ำป่าคาน้ำฮู ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
* ถ้ำน้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบหลักฐานของใช้ของคนถ้ำในยุคนั้นคือ กำไลแขนทำด้วยโลหะ, หม้อดินลายเชือกทาบ,ขวานหินขุด ระแทะไม้ ฯลฯ
- ถ้ำดอยปุ๊กตั้ง อยู่ทางทิศใต้ของบ้านห้วยเฮี้ย (ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย) ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าจากหมู่บ้าน ประมาณ 1 ชั่วโมง พบเครื่องใช้ของมนุษย์ถ้ำมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่พบในถ้ำผีแมนแห่งอื่น ๆ


ชุมชนโบราณเมืองน้อย
การตั้งถิ่นฐานของปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ชุมชนโบราณเมืองน้อยเป็นชุมชนที่พบหลักฐานทางด้านโบราณคดี และหลักฐานตำนานและศิลาจารึกที่สะท้อนให้เห็นว่าเมืองน้อยเป็นเมืองสำคัญในสมัยประวัติศาสตร์ราชวงศ์มังราย ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ตำแหน่งละติจูดที่ 19 องศา 30 ลิปดา 58 ฟิลิปดา เหนือ และลองจิจูดที่ 98 องศา 30 ลิปดา 50 ฟิลิปดา ตะวันออก ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร จากอำเภอปายไปทางทิศเหนือ เมืองน้อย เมื่อสองร้อยปีเศษมานี้มีสภาพเป็นเมืองร้าง ปัจจุบันได้มีชนเผ่าปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) เข้าไปจับจองอาศัยตั้งบ้านเรือนที่บ้านเมืองน้อยโดยมีชื่อใหม่หลายหมู่บ้าน คือ บ้านหัวฝาย บ้านห้วยงู บ้ายห้วยเฮี้ย บ้านห้วยหก บ้านกิ่วหน่อ บ้านมะเขือคัน


เมืองน้อย : ชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงเรื่องราวเมืองน้อยว่า ในรัชกาลของพระญาติโลกราช ปกครองเชียงใหม่ พ.ศ. 1984 – 2030 พระองค์มีโอรสชื่อท้าวบุญเรือง หรือศรีบุญเรืองครองเมืองเชียงราย ต่อมาถูกแม่ท้าวหอมุกกล่าวโทษ จึงให้ท้าวบุญเรืองไปครองน้อย ในที่สุดก็ถูกฆ่าตาย เมื่อสิ้นสมัยพระญาติโลกราชแล้ว โอรสของท้าวบุญเรือง ชื่อพระญายอดเชียงรายได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์เชียงใหม่ ปกครองได้ไม่นานถูกกล่าวหาว่า พระองค์ ราชาภิเษกวันจันทร์ ถือว่าเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง ไม่ประพฤติอยู่ในขนบธรรมเนียมของท้าวพระญา ไม่ประพฤติอยู่ในทศพิธราชธรรมและยังมีใจฝักใฝ่ไมตรีกับห้อ เสนาอำมาตย์จึงได้ล้มราชบัลลังค์ และได้อัญเชิญให้ไปครองเมืองน้อย ใน พ.ศ. 2038 พระญายอดเชียงรายประทับอยู่เมืองน้อยได้ 10 ปี ก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2048 เมื่อพระชนมายุได้ 50 พรรษา พระญาเมืองแก้วกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ราชโอรสของพระญายอดเชียงราย ได้เสด็จมาถวายพระเพลิงพระศพของพระญายอดเชียงรายที่เมืองน้อย และสร้างอุโบสถครอบ

ครั้นพระญาเมืองแก้วเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. 2068 เสนาอำมาตย์ได้อัญเชิญพระอนุชาจากเมืองน้อยให้มาครองราชย์เชียงใหม่ และกทำราชาภิเษกเป็น พระญาเมืองเกส ใน พ.ศ. 2069 พระองค์ครองราชย์จนถึง พ.ศ 2081 (พระญาเมืองเกส ครองราชย์เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068 – 2081 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086 – 2088) เสนาอำมาตย์ไม่ชอบใจได้ปลดพระองค์ออกจากราชบัลลังค์ และอัญเชิญท้าวชาย ราชโอรสให้ครองราชย์แทน ในปี พ.ศ. 2081 ท้าวชายประพฤติตนไม่อยู่ทศพิธราชธรรม เสนาอำมาตย์ได้รอบปลงพระชนม์ใน พ.ศ. 2086 และได้อัญเชิญพระญาเมืองเกส จากเมืองน้อยมาครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่สอง

บ้านเมืองน้อยมีโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดเจดีย์หลวง” ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ มีแนวกำแพงกำหนดเขตพุทธาวาส ขนาด 80 X 100 X 1 เมตร ขนาดซุกซีวิหาร ฐานซุกซีอุโบสถขนาด 4 X 8.50 เมตร (สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระญายอดเชียงราย) ซุ้มประตูโขงด้านทิศตะวันออก เจดีย์ขนาด 11 X 11 X 17 เป็นเจดีย์แบบเชิงช้อนย่อเหลี่ยม บางส่วนยังมีลวดลายการก่ออิฐทำมุม เจดีย์ถูกสร้างขึ้นจากอิทธิพลของศิลปะเชียงใหม่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 –21 เจดีย์ถูกขุดค้นหาสมบัติลักษณะแบบผ่าอกไก่ จากยอดถึงฐานต่ำสุด มีหลุมลึกประมาณ 1 เมตร ทำให้มองเห็นฐานรากของการก่อสร้างเจดีย์ที่ใช้ก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่วางซ้อนกันเป็นฐานราก ก้อนอิฐที่ใช้ก่อสร้างมีขนาด 6 X 11 นิ้ว และในบริเวณวัดเจดีย์หลวง ยังพบ จารึกบนแผ่นอิฐ 2 ชิ้น

จารึกหลักแรก พบในบริเวณด้านเหนือของโบราณสถาน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยวน จำนวน 3 บรรทัด บรรทัดที่ 2-3 จารึกกลับหัว จากบรรทัดที่ 1 ความว่า “(1) เชแผง (2) เนอ เหย เหย (3) ฅนบ่หลายแล แล แล “ ความในจารึกชิ้นนี้กล่าวถึงนายเชแผง ผู้เป็นหนึ่งในผู้ปั้นอิฐในการก่อสร้างศาสนสถานแห่งนี้ รำลึกถึงคนจำนวนไม่มากนักในการสร้างศาสนสถานแห่งนี้ หรือในเมืองนี้

จารึกหลักที่สอง พบก่อร่วมกับอิฐก้อนอื่น ๆ ในบริเวณแนวกำแพงด้านใต้ของโบราณสถานจารึกด้วยอักษรฝักขาม ภาษาไทยวน จำนวน 1 บรรทัด ส่วนครึ่งแรกหายไป ส่วนครึ่งหลังอ่านได้ใจความว่า “สิบกา (บ)” จารึกชิ้นนี้บอกผู้ปั้นว่าสิบกาบ คำว่า “สิบ” อาจหมายถึงตำแหน่งขุนนางล้านนาสมัยโบราณ เรียกว่า “นายสิบ” หรือเนื่องจากอิฐส่วนหน้าที่หักหายไปบริเวณกี่งกลางของก้อนอิฐนั้น คำว่า “สิบกา(บ)” อาจสันนิษฐานได้ว่า ข้อความเต็มด้านหน้าที่หายไปเป็น “(ห้า) สิบกาบ” หรือขุนนางระดับนายห้าสิบก็อาจเป็นได้

วิวรรณ์ แสงจันทร์ กล่าวว่า จากหลักฐานโบราณคดี ซากวัดร้าง ต่าง ๆ จำนวน 30 แห่ง ในเมืองน้อย รวมทั้งวัดเจดีย์หลวง และข้อความที่พบ สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนที่นี่เป็นเมืองใหญ่ในอดีต มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่จำนวนมากได้

Thai English Indonesia Israel Australia Malaysia Arab Hungary Czech Brazil Finland Sweden Norway Belgium Denmark Netherlands Poland Portugal Spain France Italy Germany Russia Turkey VietNam China Korea Japan Switzerland Romania
© 2024 สงวนลิขสิทธิ์โดย บริษัทไทยทัวร์อินโฟ จำกัด โทร 02-1641001-2 email sales@choowap.com